Tuesday, September 25, 2012

“ประเพณีใส่กระจาด” ชาวไทยพวนสอนให้รู้จักแบ่งปัน มีน้ำใจ

 “ประเพณีใส่กระจาด” ชาวไทยพวนสอนให้รู้จักแบ่งปัน มีน้ำใจ
 
การทำบุญ นับเป็นการทำความดีทางหนึ่งของพุทธศาสนิกชน นับตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันคนไทยนิยมทำบุญโดยมีความเชื่อว่าการทำบุญจะทำ ให้จิตใจผ่องใส เป็นการเสริมบารมี ต่ออายุและสร้างบุญกุศลให้กับตัวผู้ปฏิบัติเอง การทำบุญจึงถือเป็นประเพณีสำคัญที่คนไทยนิยมปฏิบัติสืบต่อกันมาอย่างยาวนาน โดยแต่ละท้องถิ่นก็จะมีการทำบุญที่คล้ายหรือต่างกันออกไป ตามความเชื่อของแต่ละชุมชน
สำหรับ “ประเพณีใส่กระจาด” หรือตามภาษาพวน เรียกว่า “เส่อกระจาด” เป็นอีกประเพณีของชาวไทยพวนที่ปฏิบัติกันในเขตอำเภอบ้านหมี่ จังหวัดลพบุรี ถือเป็นการทำบุญครั้งยิ่งใหญ่ประจำปีของชาวพวน
มักจัดในงานบุญเทศน์มหาชาติ คือ ในช่วงเทศกาลออกพรรษา (เดือน ๑๑) ข้างแรมของทุกปี กล่าวคือ เมื่อ
หมู่บ้านใดกำหนดให้มีเทศน์มหาชาติแล้ว ทางวัดจะส่งหนังสือกัณฑ์เทศน์ไปตามวัดต่างๆ เพื่อให้ส่งพระเข้าร่วมเทศน์ ประเพณีนี้จะมี ๓ วัน ประกอบด้วย วันต้อนสาว วันตั้ง หรือ วันเส่อ(ใส่)กระจาด และวันเทศน์มหาชาติ
“วันต้อนสาว” คือ วันก่อนวันตั้ง (วันใส่กระจาด) เป็นวันที่เจ้าของบ้านจะชวนลูกสาวของเพื่อนบ้านที่
คุ้นเคย รวมไปถึงชาวบ้านในละแวกนั้นมาช่วยกันทำขนม ห่อข้าวต้ม ตำข้าวปุ้น (ขนมจีน) รวมทั้งอาหารต่างๆ
ไว้ ซึ่งถือเป็นการเปิดโอกาสให้หนุ่มสาวที่ชอบพอกันได้พบปะพูดคุยและช่วยเตรียม อาหารสำหรับเลี้ยงแขกตลอดคืน หรือพูดง่ายๆว่า ให้จีบกันได้ แต่อยู่ในสายตาผู้ใหญ่
วันที่สอง คือวันรุ่งขึ้น ซึ่งเป็นวันใส่กระจาด ชาวบ้านจะนำของ เช่น อ้อย ส้ม ธูปเทียน หรืออื่นๆ ไป
“ใส่กระจาด” ตามบ้านของคนรู้จัก ขณะเดียวกันเจ้าของบ้านนั้นๆ ก็จะนำข้าวต้มมัดฝากไปให้คนที่บ้าน ๑ มัด เรียกว่า “คืนกระจาด” (กระจาดในที่นี้มีลักษณะเดียวกับกระจาดที่พบเห็นทั่วไปในปัจจุบัน)
วันต่อมาซึ่งเป็นวันที่สาม อันเป็นวันเทศน์มหาชาติ ชาวบ้านก็จะนำของที่แขกมาใส่กระจาดมาทำเป็นกัณฑ์เทศน์ไปถวายพระ เสมือนเป็นการทำบุญร่วมกันของคนในชุมชนและถือว่าทำให้ได้บุญกุศลพร้อมๆกันไป ด้วย
วันใส่กระจาด และ คืนกระจาด นับเป็นวันที่ให้ความสุขแก่ผู้ที่ได้ร่วมงาน ถือกันว่าแขกที่ไปใส่กระจาดจะต้องกินอาหารของเจ้าของบ้านทุกบ้านอย่างละเล็ก ละน้อย เพื่อรักษาน้ำใจและไม่ให้เกิดอาการ
น้อยอกน้อยใจกันขึ้น เป็นการสานสัมพันธ์ และผูกไมตรีต่อกัน
แม้ว่า “ประเพณีใส่กระจาด” จะเป็นประเพณีเล็กๆ ที่จัดเฉพาะชุมชนไทยพวนเท่านั้น แต่ก็นับเป็น
ประเพณีที่มีความสำคัญและถือปฏิบัติสืบทอดกันมานาน เป็นประเพณีที่สอนให้ลูกหลานได้ตระหนักถึงคุณค่าของขนบธรรมเนียมประเพณีไทย ภายใต้หลักธรรมของศาสนา ซึ่งนอกจากจะช่วยกล่อมเกลาจิตใจให้ผ่องใสแล้ว และยังเป็นประเพณีที่เปิดโอกาสให้หนุ่มสาวได้ทำความรู้จักมักคุ้น โดยมีผู้ใหญ่ช่วยดูแลให้ด้วย ข้อสำคัญ
ประเพณีนี้ยังแสดงให้เห็นถึงความมีน้ำใจ เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ รู้จักแบ่งปันซึ่งกันและกัน อันเป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยให้ทุกคนในชาติอยู่ร่วมกันได้อย่างสงบสุข มีความรัก สามัคคี เป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน ดังนั้น “ประเพณีใส่กระจาด” จึงเป็นอีกประเพณีหนึ่งที่ควรค่าแก่การอนุรักษ์สืบสานให้คงอยู่ต่อไป

------------------------------------


เพ็ญนภา วิชาพร

นิสิตฝึกงาน กลุ่มประชาสัมพันธ์ สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ กระทรวงวัฒนธรรม
หมายเหตุ : ชาวพวนมีถิ่นฐานอยู่ที่เมืองพวน แขวงเมืองเชียงขวาง ประเทศลาว ทางภาคอีสานจะเรียกว่า “ไทยพวน” ส่วนภาคกลางเรียก ลาวพวน ชาวพวนได้กระจายตัวอยู่บริเวณลุ่มแม่น้ำงึมของลาว สมัยกรุงธนบุรี เมื่อลาวได้รวมเป็นอาณาจักร ประชากรฝั่งซ้ายของแม่น้ำโขงได้ถูกกวาดต้อนมาอยู่ทางฝั่งขวาของแม่น้ำโขง
ชาวพวนได้ถูกกวาดต้อนมาด้วย และกระจายตัวอยู่ในจังหวัดอุดรธานี พิจิตร แพร่ อุตรดิตถ์ สุโขทัย สิงห์บุรี สระบุรี สุพรรณบุรี ฉะเชิงเทรา นครนายก ปราจีนบุรี ราชบุรี เพชรบุรี และลพบุรี





ที่มา:สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ กระทรวงวัฒนธรรม.

 http://www.culture.go.th/knowledge/study.php?&YY=2548&MM=5&DD=5
ที่มาภาพ  : http://lopburi.mots.go.th

0 comments:

Post a Comment