Wednesday, September 26, 2012

การแทรกโพนช้าง

การแทรกโพนช้าง
 


การโพนช้าง
การจับ ช้างป่านั้นมีอยู่หลายวิธี แต่เป็นวิธีคล้องช้างที่ชาวกวยบ้านตากลางสืบทอดมาแต่โบราณ โดยผู้ที่จะร่วมคณะหมอช้างออกคล้องช้างป่าด้นั้นจะต้องได้รับการประชิเป็น หมอช้างก่อน การคล้องช้างแบบนี้เป็นวิธีจับช้างป่าที่เสี่ยงอันตรายเป็นอย่างมาก แต่ทั้ง ๆ ที่อันตรายชาวตากลางก็ยอมเสี่ยง เพราะถือว่าที่สุดของคนเลี้ยงช้างก็คือ การได้ประชิเป็นหมอและมีโอกาสติดตามคณะหมอช้างออกไปคล้องช้างป่าหรือถ้าไม่ ได้ประชิเป็นหมอ หากได้ติดตามออกไปคล้องช้างป่าในฐานะมะเด็กท้ายช้างของหมอช้างก็ถือว่าไม่ เสียทีที่เกิดมาเป้นคนเลี้ยงช้างแห่งบ้านตากลาง

อุปกรณ์ในการโพนช้าง
ใน การออกคล้องช้างแต่ละครั้งนั้น ชาวกวยต้องเตรียมอุปกรณ์ข้าวของเครื่องใช้มากมาย ทั้งที่เกี่ยวกับการคล้องช้างและการยังชีพ ซึ่งประกอบด้วย
- หนังประกรรม เรียกอีกชื่อหนึ่งว่า เชือกบาศก์ ทำมาจากหนังกระบือสามเส้นนำมาฟั่นเป็นเกลียว
- ไม้คันจาม เป็นไม้ยาวที่ใช้เสียบต่อเข้ากับแขนนางซึ่งติดอยู่กับเชือกประกรรม ไม้คันจามนี้ทำจากไม้เนื้อแข็งหรือไม้ไผ่รวก
- ทาม คืออุปกรณ์ที่ใช้ผูกคอช้างป่าที่คล้องได้ โดยทามนี้จะทำจากหนังกระบือเช่นเดียวกับหนังประกรรม
- สายโยง คืออุปกรณ์ที่ใช้ผูกช้างป่ากับต้นไม้หรือกับช้างต่อ โดยแยกเป็นสายโยงที่ผูกช้างป่ากับต้นไม้เรียกว่า “โยงละ” ส่วนสายโยงที่ใช้จูงช้างขณะเดินทางเรียกว่า “สายโยงเตอะ”
- สะลก คือเชือกที่ใช้ผูกคอช้างต่อทำจากหนังกระบือ
- โทน คือโครงทำด้วยไม้ใช้เก็บหนังประกรรมขณะเดินทางเข้ป่า รวมของใช้อื่น ๆ ที่จำเป็นในการออกไปคล้องช้างป่า โทนทำด้วยไม้มีลักษณะเป็นสามเหลี่ยม
- สายประโคน ทำด้วยหวายใช้ยึดโทนให้ติดกับหลังช้าง
- หางกระแชง เป็นสายหนังหรือเป็นเชือกที่ใช้ผูกโทนกับสายประโคน
- แผนกนำ ทำจากหนังกระบือ แผนกนำนี้ใช้ผูกกับสายประโคนดึงไปทางท้ายช้างให้มะจับยึดเวลาช้างวิ่งจะได้ไม่ตก
- สายชะนัก ใช้สวมที่คอช้างสำหรับหมอช้างคีบเวลาขี่ช้างต่อไล่ช้างป่าจะได้ไม่พลัดตก
- ไม้งก เป็นไม้สำหรับตีท้ายช้างขณะไล่คล้องช้างป่าเพื่อเร่งความเร็วของช้างต่อ ไม้งกทำจากไม้เนื้อแข็งรูปร่างกลมแบนโค้งงอคล้ายตัวแอล
- สะแนงเกล (สะไน) เป็นอุปกรณ์ส่งสัญญาณด้วยเสียงทำด้วยเขาควายใช้เป่าเมื่อเคลื่อนขบวนช้างต่อทั้งขาไปและขากลับ
- สนับมุก คือถุงใส่ของใช้ส่วนตัวของหมอหรือมะ สนับมุกถักด้วยปอ หรือป่าน
- เขาวัว ทำจากหวายสองเส้นถักเป็นวงกลม มัดไว้ที่หัวและท้ายโทนเขาวัวใช้สอดเก็บถุง
- ข้าวสารและของใช้อื่น ๆ
- หนังลิว เป็น เชือกหนังกระบือเส้นเล็ก ๆ จะทำไว้ยาวมากจนต้องขดเป็นวงมัดเก็บไว้ เชือกลิวนี้ใช้ผูกมัดห่วงทามเข้าด้วยกันหรือมัดสายโยงกับกาหรั่น มัดสะลกที่คอช้างต่อและอย่างอื่น ๆ โดยตัดออกไปตามความยาวที่ต้องการ
- กระตาซอง เป็นภาชนะใส่สัมภาระพวกมีดพร้าทำด้วยหวายลักษณะเป็นสี่เหลี่ยมทรงกระบอก
- สะยาว เป็นถุงใส่สัมภาระถักด้วยปอหรือป่านมีลักษณะเป็นถุงทรงยาว
- บังพริก เป็นกระบอกใส่เกลือทำจากไม้ไผ่ โดยทำเดือยสวมเข้าหากัน
- อาห์ตุงเหดะ เป็นกระบอกไม้ไผ่ขนาดใหญ่ ทะลุปล้องกลางออกให้ถึงกันเหลือเพียงปล้องหัวท้าย ส่วนหัวคว้านออกใช้ใส่น้ำใช้สอยขณะออกคล้องช้างในป่า
- กระเบอะตรวจ เป็นจานใช้ใส่ข้าวลักษณะคล้ายพานสาน ขึ้นมาจากไม้ไผ่
- กระไทครู เป็นผ้าคาดเอวสำหรับหมอช้างภายในมีเครื่องรางของขลัง
- โปรเดียง เป็นไม้เนื้อแข็งทำเป็นรูปเขาควายคู่ ใช้ป้องกันเชือกบิดเกลียว
- ขอลอง ทำจากไม้เนื้อแข็งขนาดและรูปทรงคล้ายเขาควายใช้ถักซ่อมแซมเชือกหนัง คล้ายลิ่มช่วยงัดสายที่แข็ง แทนมือ
- พนธุง เป็นถุงถักด้วยปอหรือป่าน ปากกว้างมีหูรูด หมอช้างใช้ใส่ยาสูบ กระปุกปูนหรือของใช้ส่วนตัว

ฤดูโพนช้าง
ในปีหนึ่งบรรดาหมอช้างจะยกขบวนออกไปคล้องช้างป่ากันหลายคณะ โดยเริ่มตั้งแต่ช่วงเดือนกันยายน จนถึงเดือนกุมภาพันธ์หรือเดือนมีนาคม ยกเว้นช่วงฤดูแล้ง ซึ่งน้ำหายากช้างป่าไม่ออกมาที่ทุ่งราบ โดยแต่ละครั้งจะใช้เวลานาน 4 – 5 เดือนหรือมากกว่าไม่แน่นอนแล้วแต่ว่าจะได้ช้างพอแล้วหรือข้าวสารจะหมดเมื่อ ใด
แต่ ก่อนที่คณะหมอช้างจะออกเดินทางไปคล้องช้างป่า กรรมหลวงหรือครูบาใหญ่จะเรียกหมอช้างอันดับรอง ๆ ทั้งหมอสดำ หมอเสดียง หมอจา ที่เคยออกโพนช้างด้วยกันไปปรึกษาหารือที่บ้านกรมหลวง ว่าจะไปคล้องช้างที่ป่าไหน หลังจากนั้นกรมหลวงก็จะบอกให้หมอช้างคนหนึ่งไปปรึกษาหมอดู เพื่อดูฤกษ์ยามว่าจะไปในวันใดจึงจะมีโชคจับช้างได้มาก ส่วนช้างต่อ หมอช้างคนใดที่ยังไม่มี ก็อาจจะขอยืมจากญาติ และช้างต่อที่ ดีนั้นต้องมีรูปร่างแข็งแรงใหญ่โต มีนิสัยกล้าหาญไม่กลัวช้างป่า วิ่งได้รวดเร็ว ยิ่งช้างต่อที่เคยมีประสบการณ์มาแล้วยิ่งดี และจะเป็นช้างพลายช้างสีดอ หรือช้างพังก็ได้
พิธีเซ่นหนังประกรรมและเสี่ยงทายกระดูกคางไก่
เมื่อถึงวันนัดหมายบรรดาผู้ที่ร่วมขบวนออกไปคล้องช้างทุกคนทั้งหมอช้างและมะจะจัดเตรียมของเซ่นผีประกรรม ซึ่งประกอบไปด้วย
• ไก่ต้มหนึ่งตัว
• เหล้าขาวหนึ่งขวด
• เทียนไขหนึ่งคู่
• ขันธ์ 5 (กรวยใบตองใส่ดอกไม้ห้ากรวย)
• บุหรี่สองมวน
• หมากสองคำ
• สำหรับกับข้าว 1 ชุด
• ด้ายดำแดง
• โสร่ง
• ขมิ้น
• เงิน 12 บาท
เมื่อ ได้เวลาทั้งหมอกับมะ ก็จะจัดนำของไหว้ไปที่ศาลประกรรมของตนเองจุดเทียน และยกของที่เตรียมไว้เซ่นหนังประกรรม จากนั้น มะก็จะเอาช้างต่อมาเทียบศาลปะกรรม แล้วหมอก็จะเอาเปลือกกระโดนและแผ่นหนังปูบนหลังช้างส่งให้มะ แผ่นกระโดนและแผ่นหนังนี้จะช่วยป้องกันหลังไม่ให้แตกจากการกดทับของสัมภาระ จากนั้นหมอก็จะเอาโทนขึ้นตั้ง ผูกรัดตีนโทนข้างหนึ่งอ้อมใต้ท้องช้างมามัดกับตีนโทนอีกข้างหนึ่ง จนมั่นคงเสร็จแล้ว หมอก็จะกล่าวอัญเชิญหนังปะกำ หลังจากนั้น หมอก็จัดส่งหนังประกรรมให้มะวางบนโทน ตามด้วยอุปกรณ์อื่น ๆ เช่นทามและหนังเรียว ไม้คันจาม ฯลฯ  เมื่อเตรียมข้าวของพร้อมแล้วหมอและมะก็จะสั่งเสียบุตรภรรยา ให้ยึดมั่นในข้อปฏิบัติที่คนทางบ้านต้องถือให้ครบ เพื่อความปลอดภัยขณะออกป่าไปโพนช้าง ซึ่งมีอยู่มากมายหลายข้อเช่น
- ห้ามปัดกวาดที่นอน บ้านเรือน ถ้ามีเศษผงให้หยิบจับไปใส่ตะกร้าทิ้งให้ไกลบ้าน
- ห้ามขึ้นนั่งนอนบนที่นอน
- ห้านรับแขกบนเรือน
- ห้ามทิ้งของจากบนบ้านลงพื้นดิน
- ห้ามคนนอกครอบครัวค้างคืนที่บ้าน
- ห้ามภรรยาแต่งตัว แต่งหน้า หวีผม ตัดผมหรือร้องรำทำเพลง
- ห้ามนั่งบนขั้นบันไดบ้าน
- ห้ามแขกมาค้างบ้าน
- ห้ามชักฟืนออกจากเตา ขณะประกอบอาหาร ฯลฯ
เสร็จ แล้วหมอกับมะก็จะขี่ช้างต่อมุ่งหน้าสู่ป่า ที่เป็นสถานที่ตั้งศูนย์คชศึกษา โดยหมอช้างจะนั่งอยู่ที่ท้ายช้างถัดจากโทน และเนื่องจากการออกไปคล้องช้างป่ามีข้อห้ามหลายข้อ โดยเฉพาะคนที่จะไปคล้องช้างป่าได้จะต้องเป็นหมอช้างเท่านั้น ดังนั้นก่อนจะเดินทางใครที่ยังไม่เคยออกคล้องช้างคือไม่เคยปะชิหมอเป็นหมอ ช้างมาก่อน กรรมหลวงหรือครูบาใหญ่หัวหน้าคณะโพนช้างก็จะทำพิธีปะชิให้
พิธีประชิหมอ
คือ พิธีแต่งตั้งหมอใหม่ ซึ่งเป็นการแต่งตั้งควาญช้าง หรือมะที่ไม่เคยออกโพนช้างหรือเคยแต่อยู่ในตำแหน่งของมะ คือ “ท้ายช้าง” ขึ้นเป็นหมอใหม่ การประชิหมอนี้กรมหลวง จะเป็นผู้ประกอบพิธีที่จัดสร้างขึ้นง่าย ๆ เสร็จแล้วกรมหลวงก็จะซักซ้อมความเข้าใจ เกี่ยวกับกฏกติกาข้อปฏิบัติตนรวมถึงข้อห้ามต่าง ๆ ที่ต้องยึดถือตลอดระยะเวลา ที่ออกเดินทางไปคล้องช้างป่าให้ทราบโดยทั่วกัน ข้อห้ามต่าง ๆ ได้แก่ห้ามสูบบุหรี่บนหลังช้าง ห้ามสูบบุหรี่ในที่พักช้าง ห้างกินตับและไขมันต่าง ๆ ยกเว้นหมอช้างที่อยู่ขวาของกอง คือ หมอสะดำ นอกจากนี้ ห้ามพูดภาษาอื่นให้พูดเฉพาะภาษาผี
ลำดับหมอช้าง
- กรรมหลวง (ครูบาใหญ่) เป็นหมอช้างอันดับสูงสุด โดยในแต่ละพื้นที่จะมีเพียงคนเดียว ถือเป็นเจ้าเถื่อนสามารถประกอบพิธีทุกอย่างในนามของพระครูได้
- ครูบา คือหมอช้างในตำแหน่งสะดำที่ได้รับแต่งตั้งจากครูบาใหญ่หรือกรรมหลวงให้เป็น
หัวหน้ากองขบวนช้างต่อ
- หมอสะดำ เป็นหมอเบื้องขวา จับช้างป่าได้ตั้งแต่ 6 – 10 ตัว และได้รับการแต่งตั้ง
- หมอสะเดียง เป็นหมอเบื้องซ้าย จับช้างป่าได้ตั้งแต่ 1 – 5 ตัว และได้รับการแต่งตั้ง
- หมอจา คือหมอใหม่ที่ได้รับการแต่งตั้ง แต่ยังจับช้างไม่ได้เลย
- มะ คือ ผู้ช่วยหมอช้างจะนั่งอยู่ตอนท้ายของช้างต่อทุกเชือก
ภาษาผี
กฏกติกาในการออกไปโพนช้างของชาวกวยมีอยู่มากมายที่ต้องปฏิบัติอย่างเคร่ง ครัด และที่น่าสนใจก็คือการกำหนดให้ทุกคนที่ติดตามคณะหมอช้างออกไปคล้องช้างพูด กันด้วยภาษาที่ปกติจะไม่พูดกันซึ่งเรียกว่า “ภาษาผี” ภาษาผีเป็นภาษารหัสที่เข้าใจกันในหมู่พวกกวยคล้องช้าง ภาษาผีที่น่าสนใจเช่น “ฮ่องจาว” แปลว่า ลำห้วย “กำพวด” แปลว่า กองไฟ “ใจดี”  แปลว่า พริก “จังวา” แปลว่า ปลาต่าง ๆ  “อ้วน”  แปลว่า น้ำเป็นต้น
ระเบียบในการโพนช้าง
นอก จากการใช้ภาษาผีแล้ว ผู้ร่วมขบวนคล้องช้างต้องเซ่นหนังประกรรม ก่อนรับประทานอาหารทั้งเช้าและเย็นทุกวัน ขณะหยุดพักช้างที่ใดต้องยกหนังประกรรมลงวางใกล้หมอสะดำห้ามข้ามหนังประกรรม ห้ามร้องรำทำเพลงหรือทะเลาะวิวาทกันตลอดการเดินทาง ห้ามช้างต่ออื่นเดินนำครูบาใหญ่โดยทั้งหมดต้องเดินเรียงกันตามลำดับชั้นของ หมอ  ขณะเข้าคล้องช้างป่าทุกคนก็ห้ามใส่เสื้อผ้านุงกางเกงใด ๆ ยกเว้นผ้าโจงกระเบน และเมื่อออกเดินทางไปจับช้างป่าห้ามทุกคนเรียกชื่อเดิมกัน แต่ให้เรียกตำแหน่งตามด้วยชื่อช้างต่อ เป็นต้น กฏระเบียบทั้งหลายนี้กรรมหลวงจะประชุมชี้แจงจนเข้าใจ ก่อนจะยกขบวนเดินทางจากหมู่บ้านเข้าสู่ป่าใหญ่อันเป็นที่อยู่ของช้างป่า
เส้นทางโพนช้าง
เดิมที ในสมัยที่ป่าดงในภาคอีสานยังอุดมสมบูรณ์ และทางราชการยังอนุญาตให้จับช้างป่า เส้นทางการคล้องช้างของชาวตากลางจะอยู่ไม่ไกลนัก แต่ต่อมาภายหลังจากการสูญเสียพื้นที่ป่าจำนวนมหาศาล ทำให้ปริมาณช้างป่าลดลงเส้นทางของขบวนคล้องช้าง จึงมุ่งลงทางใต้และทางตะวันออก โดยใช้เส้นทางผ่านช่องเขาพนมดงรัก ผ่านไปในพื้นที่จังหวัดต่าง ๆ เข้าสู่ป่าในเขตประเทศกัมพูชา แล้วลัดเลาะติดตามหาโขลงช้างป่า ไปในทางตะวันออกเรื่อยไปจนถึงแขวงจำปาศักดิ์
ขบวนช้างต่อ
เสียง เป่าเสนงเกล (แตรที่ทำจากเขาควาย) ดังไปทั่วหมู่บ้านในละแวกใกล้เคียงเพื่อบอกกล่าวผู้เป็นญาติมิตร ตลอดจนบุตรธิดาและภรรยา ให้ได้ทราบว่าการเดินทางที่ยาวนานและเต็มไปด้วยอันตรายของผู้เป็นที่รักได้ เริ่มต้นขึ้นแล้ว พวกเขาจะกลับมาหรือไม่ ถ้ากลับจะกลับมาเมื่อไร ในสภาพอย่างไร นี่คือคำถามในใจของทุกคน แต่สิ่งเดียวที่คนอยู่ทางบ้านจะกระทำได้ ดี่ที่สุดเพื่อแสดงความรักความเป็นห่วงต่อสมาชิกที่ร่วมขบวนโพนช้าง ก็คือ การรักษาคำมั่นสัญญาต่อประกรรม นับแต่นี้ไปทุกคนต้องปฏิบัติตามกฏระเบียบข้อห้ามทุกข้ออย่างเคร่งครัดที่สุด ขบวนช้างต่อนำโดยกองช้างของกรรมหลวงซึ่งเป็นกองที่อนุโลมให้กำหลวงอยู่ใน ตำแหน่ง สะดำติดตามด้วยกองที่เหลือ โดยทุกกองจะเดินกันตามมาลำดับชั้น ทั้งหมดจะรอนแรมมุ่งสู่ถิ่นช้างป่า ถึงเวลาหยุดพักก็จะพักกันเป็นชมรม แต่ละชมรมจะอยู่ใกล้ ๆ กันตามที่แบ่งไว้
พิธีเบิกไพร
เมื่อ เดินทางถึงป่าที่จะคล้องช้าง กรรมหลวงจะสั่งให้ยกศาลขึ้นเพื่อเซ่นบวงสรวงเจ้าป่าแล้วให้หมอสะดำ 3- 4 คนไปล่าสัตว์มาเป็นเครื่องเซ่น หลังจากนั้นกรรมหลวงกับหมอช้างและมะทั้งหมด ต้องจัดหาบุหรี่ 2 มวน เทียน 2 เล่ม กรวยใส่หมากพลู 2 กรวย แล้วจึงนำไม้คัยจามและเชือกผูกไม้ตีท้ายช้างของมะกับของเซ่นไหว้ทั้งหมดขึ้น ไว้บนศาล พวกหมอและมะทั้งหมดจะยืนอยู่หน้าศาลเพียงตา แล้วกรรมหลวงก็จุดเทียนบูชากล่าวชื่อป่า ที่จะทำการคล้องช้างและป่าที่มีบริเวณติดต่อกันเป็นภาษาเขมร
วิธีโพนช้าง
หลัง จากพิธีเบิกไพร คณะคล้องช้างก็เคลื่อนขบวนออกสังเกตรอยช้างป่าว่าในป่านั้นมีช้างอยู่หรือ ไม่ ถ้าพบร่องรอยมีมาก กรรมหลวงจะสั่งให้หยุดพักแล้วกรรมหลวงก็จะส่งหมอเสดียงกับหมอจาออกแกะรอย ช้างป่าที่เห็น เพื่อหาตำแหน่งที่แน่นอนของโขลงช้างป่า ถ้าติดตามหาไม่พบ แสดงว่าช้างป่าได้เคลื่อนย้ายไปยังป่าอื่นแล้ว ก็จะยกขบวนออกติดตามหาร่องรอยช้างป่าในป่าอื่นต่อไป แต่ถ้าติดตามไปพบช้าง ก็ให้ขึ้นต้นไม้สังเกตดูว่า มีลูกช้างมากน้อยแค่ไหน แล้วกลับมารายงานกรรมหลวง เมื่อกรรมหลวงพิจารณาแล้ว หากเห็นว่าคล้องได้ ก็จะสั่งให้ทุกคนเอาโทนและเสบียงลงจากหลังช้าง เหลือไว้อุปกรณ์ในการคล้องช้าง เมื่อจัดช้างต่อทุกเชือกแล้ว กรรมหลวงก็ชักช้างต่อ นำขบวนเข้าหาโขลงช้างป่า จนใกล้พอที่จะได้ยินเสียงช้างป่าหากิน แล้วจึงสั่งแกช้าง กระจายกองเข้าล้อมโขลงช้างป่าเป็นวงกลม ทั้ง 4 ทิศแล้วหมอช้างทั้งหมด ก็ไสช้างเข้ากลางวง โขลงช้างป่าได้ยินเสียงช้างต่อก็แตกตื่นพยายามหนีออกจากวงล้อม ตัวไหนวิ่งไปทางหมอคนไหนหมอคนนั้นคะเนดูเห็นว่าขนาดพอจะคล้องได้ลักษณะสวย งาม ก็จะไสช้างเข้าปะกบ มะก็จะช่วยตีท้ายช้างต่อ ให้เร่งฝีเท้าตามไปจนทัน เมื่อได้ระยะหมอช้างซึ่งนั่งอยู่ที่คอช้าง ก็จะยื่นไม้คันจามที่ติดกับเชือกบาศก์วางดักที่หน้าเท้าหลังของช้างป่า หากเชือกบาศก์คล้องติดขาช้างป่าแล้วหมอช้างก็จะกระตุกให้รัดข้อเท้า แขนนางที่เป็นส่วนหนึ่งของเชือกบาศก์ ที่เป็นรูเสียบไม้คันจามก็จะหลุดจากปลายไม้คันจาม  ช้างป่าก็จะลากเชือกประกรรมไป ขณะที่หมอช้างจะทิ้งไม้คันจามและกองหนังประกรรมจากหลังช้าง ต่อจากนั้นช้างต่อกับช้างป่า ก็จะปะลองกำลังดึงกันไปมา เพราะปลายข้างหนึ่งของเชือกบาศก์หรือเชือกประกรรมนี้จะผูกไว้กับคอช้างต่อ ช้างต่อจะดึงจนช้างป่าอ่อนแรงหมอช้างก็จะไสช้างต่อเข้าหาต้นไม้ใหญ่ วนช้างรอบต้นไม้สามรอบแล้วให้มะลงจากช้าง แล้วมัดปลายเชือกประกรรมไว้กับต้นไม้ ช้างต่อของใครที่คล้องช้างลูกคอได้ ก็จะต้องทำการเซ่นหนังประกรรมของตนพิเศษ




พิธีปะสะ
ใน ระหว่างที่เข้าประกรรมหรือในระหว่างออกโพนช้างนี้ หากปรากฏว่าใครในคณะคล้องช้าง เกิดทำผิดข้อห้ามข้อใดข้อหนึ่ง หรือคล้องช้างได้ลักษณะต้องห้าม จะต้องเข้าพิธีปะสะ ซึ่งเป้นพิธีชำระโทษปัดเสนียดจัญไรให้กับคนผู้คล้อง ในส่วนพิธีปะสะที่มีสาเหตุมาจากคล้องช้างโทษได้นี้ จะต้องจัดขึ้นภายใน 7 วัน หลังเกิดเหตุ โดยกรรมหลวงเป็นผู้ประกอบพิธีให้ แต่สำหรับการปะสะให้คนที่ฝ่าฝืนข้อห้ามข้อบังคับการโพนช้างนั้น กรรมหลวงจะนำผู้ฝ่าฝืนนั้นไปปัดเป่าและล้างบาปในแม่น้ำลำคลอง เมื่อปัดเป่าเสร็จแล้วก็สั่งให้ผู้นั้นดำน้ำ 1 ผุด ก็จบพิธีล้างบาปถือว่าผั้นสะอาดแล้ว สามารถกลับเข้าขบวนโพนช้างได้ดังเดิม
การลาประกรรม
เมื่อ กรรมหลวงเห็นว่าขบวนโพนช้างจับช้างได้มากพอสมควร และข้าวสารก็เหลือน้อยแล้วก็จะปรึกษากับคณะทั้งหมด สั่งให้ยกขบวนกลับหมู่บ้าน เมื่อกลับมาถึงบริเวณป่าใกล้บ้าน กรรมหลวงก็จะสั่งให้ช้างต่อที่นำช้างลูกคอมาด้วย นำไปผูกไว้ตามต้นไม้หนึ่งเชือกต่อหนึ่งต้น ส่วนช้างที่ไม่มีช้างลูกคอก็ให้พักช้างนำข้างของเครื่องใช้ลงจากหลังช้าง ส่วนเชือกประกรรมนั้นให้นำมาไว้รวมกัน เมื่อช้างต่อทั้งหมดทั้งมะและหมออันดับต่าง ๆ มาพร้อมกันแล้ว กรรมหลวงก็นั่งยอง ๆ หันหน้าไปทางกองหนังประกรรมของหมอจา ส่วนทั้งมะและหมอทุกคนจะถือเทียนที่จุดแล้วคนละเล่มนั่งยอง ๆ อยู่ข้างหลัง เมื่อส่งเทียนเหล่านี้ให้กับกรรมหลวงทุกคนแล้วก็กล่าวคำลาผีประกำ เมื่อกล่าวคำลาผีประกรรมเสร็จแล้ว กรรมหลวงก็จะให้มะแก้เชือกที่ผูกไม้ตีท้ายช้าง ออกจากเอวส่งให้กรรมหลวง กรรมหลวงจะดึงเอาเชือกมาเผาไฟแล้วส่งคืนให้มะ จนหมดทุกคน เป็นอันเสร็จพิธีลาผีประกรรม จากนี้ไปทุกคนก็จะประพฤติตนตามปกติได้
การเซ่นประกรรมและการแบ่งส่วนช้าง
หมอ และมะจะจัดแจงขนหนังประกรมและข้าวของขึ้นช้างต่อ แล้วนำช้างลูกคอของตนกลับสู่หมู่บ้าน เมื่อเข้าไปใกล้หมู่บ้านของใคร หมอช้างก็จะขี่ช้างต่อนำช้างลูกคอไปผูกไว้กับต้นไม้ ปล่อยช้างลูกคอไว้ที่นั่น ส่วนหมอก็ขี่ช้างต่อกลับเข้าหมู่บ้าน แล้วจึงนำหนังประกรรมลงจากหลังช้างต่อไป เก็บไว้บนศาลตามเดิม หลังจากที่จับช้างได้ก็จะทำการแก้บนตามที่บนบานเอาไว้ ส่วนรายละเอียดการแบ่งกรรมสิทธิช้างลูกคอนั้น ชาวกวยมีกติกาว่าเจ้าของช้างต่อจะได้สิทธิ 2 ส่วนครึ่ง ผู้เป็นหมอได้ 2 ส่วน และมะได้  1 ส่วนครึ่ง รวมแล้วช้างลูกคอ 1 เชือก จะแบ่งเป็น 6 ส่วน แต่สำหรับช้างต่อที่ขอยืมคนอื่นมานั้น จะต้องผลัดเปลี่ยนกันเลี้ยงดูคนละเดือนไป จนกว่าจะขายได้แล้ว จึงแบ่งส่วนกันตามกติกาตามที่กล่าวมา แต่ในกรณีที่หมอช้างยืมช้างต่อผู้อื่นไปแล้ว เกิดล้มตายไประหว่างทางหรือจับช้างป่าไม่ได้นั้น ชาวกวยวางกติกาไว้ให้ถือว่าเป็นเหตุสุดวิสัย

โดย  นายอิทธิพันธ์ ขาวละมัย
ที่มา: วิชาการ.คอม: www.vcharkarn.com
 

0 comments:

Post a Comment