Wednesday, September 26, 2012

พระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ

 

วันพืชมงคล หมายถึง วันที่กำหนดพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ เป็นพระราชพิธีเก่าแก่มาแต่โบราณที่เสริมสร้างให้เกิดขวัญกำลังใจแก่เกษตรกร ของชาติ
                 พระราชพิธีพืชมงคลได้เริ่มมีขึ้นในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ เป็นพระราชพิธี ๒ พิธี รวมกันคือ พระราชพิธีมงคลอันเป็นพิธีสงฆ์อย่างหนึ่ง กับพระราชพิธีจรด พระนังคัลแรกนาขวัญ อันเป็นพิธีพราหมณ์ โดยพิธีสงฆ์จะจัดในพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม และพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญจะประกอบพระราชพิธีในวันรุ่งขึ้น ณ มณฑลท้องสมนามหลวง
                 การจัดงานพระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ ได้กระทำเต็มรูปแบบครั้งสุดท้ายในปี พ.ศ.๒๔๗๙ แล้วว่างเว้นไป ต่อมาในปี พ.ศ.๒๕๐๓ คณะรัฐมนตรีได้มีมติให้ฟื้นฟูพระราชพิธีนี้ขึ้น โดย พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ได้ทรงมีกระแสรับสั่งให้ปรับปรุงพิธีการบางอย่างให้เหมาะสมกับยุคสมัย
                 ในการประกอบพระราชพิธีพืชมงคล พระมหากษัตริย์จะทรงบำเพ็ญพระราชกุศลทำขวัญพืชพันธุ์ต่าง ๆ เช่น ข้าวเปลือก เป็นต้น ส่วนพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกหน้าขวัญ เป็นพระราชพิธีเริ่มการเพาะปลูกพืชพันธุ์ธัญญาหาร โดยจะโปรดเกล้าแต่งตั้งนางเทพีหาบพันธุ์พืช เช่น พันธุ์ข้าว ตามหลังพระยาแรกนา โดยมีพระโคเทียมแอกและไถพร้อมอยู่ ณ บริเวณนาจำลองที่ท้องสนามหลวง พระยาแรกนาจะไถหว่านพันธุ์พืช โดยใช้พันธุ์พืชที่นางเทพีหาบตามหลังหว่านลงบนนาจำลองเสมือนเป็นการประกาศ แก่เกษตรกรว่าฤดูกาลทำนาเริ่ม แล้วโดยสมมุติว่าพระมหากษัตริย์ทรงพระกรุณาเริ่มการหว่านไถเป็นแบบอย่างและ เป็นมงคล เพื่อให้เกษตรกรดำเนินตาม
                 พระราชพิธีพืชมงคลเป็นพิธีทำขวัญพืชพันธุ์ธัญญาหาร ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงอธิษฐาน เพื่อความอุดมสมบูรณ์ของพืชพันธุ์ธัญญาหารแห่งราชอาณาจักรไทย ข้าวนั้นถือเป็นอาหารหลักของประชาชนในภาษาบาลีเรียกว่า ปุพพัณณะ หรือ บุพพัณณะ หรือ บุพพัณณชาติ ส่วนพืชอื่น ๆ ที่เป็นอาหารเรียกว่า อปรัณณ หรือ อปรัณชาติ หมายถึง พืชจำพวกถั่ว งา เป็นต้น ถ้าเรียกควบทั้งสองอย่างก็เรียกว่า บุพพัณณปรัณณชาติ ที่หมายถึงพืชที่เป็นอาหารทุกชนิด บุพพัณณปรัณณชาติ ที่นำเข้าพิธีพืชมงคลนั้น เป็นข้าวเปลือก มีทั้งข้าวเจ้า และข้าวเหนียว นอกจากนี้มีเมล็ดพืชต่าง ๆ รวม ๔๐ อย่าง แต่ละอย่างบรรจุถุงผ้าขาว กับเผือกมันต่าง ๆ พันธุ์พืชเหล่านี้เป็นของปลูกงอกได้ทั้งสิ้น เมล็ดพืชที่หว่านแล้วนั้น เกษตรและราษฎรจะนำไปผสมกับพันธุ์พืชของตนหรือเก็บในถุงเงินเพื่อเป็นสิริ มงคลให้การประกอบเกษตรกรรมของตนได้ผลดี
                 สำหรับการพยากรณ์ในการเสี่ยงทายในพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญจะเป็น
- ผ้านุ่งแต่งกาย ผ้านุ่ง ซึ่งพระยาแรกนาขวัญตั้งสัตยาอธิฐานหยิบนั้นเป็นผ้าลายมีด้วยกัน ๓ ผืน คือ
หกคืบ ห้าคืบ และสี่คืบ ผ้านุ่งนี้จะวางเรียงบนโตก มีผ้าคลุมให้พระยาแรกนาขวัญหยิบ ถ้าหยิบได้ผืนใดก็จะมีคำทำนายไปตามนั้น คือ
ถ้าหยิบได้ผ้า ๔ คืบ พยากรณ์ว่า น้ำจะมากสักหน่อย นาในที่ดอนจะได้ผลบริบูรณ์ดี นาในที่ลุ่มอาจจะเสียหายบ้างได้ผลไม่เต็มที่
ถ้าหยิบได้ผ้า ๕ คืบ พยากรณ์ว่าน้ำในปีนี้จะมีปริมาณพอดี ข้าวกล้าในในนาจะได้ผลบริบูรณ์และผลาหาร มังสาหารจะอุดมสมบูรณ์ดี
ถ้าหยิบได้ผ้า ๖ คืบ พยากรณ์ว่า น้ำจะน้อย นาในที่ลุ่มจะได้ผลบริบูรณ์ดี แต่นาในที่ดอนจะเสียหายบ้างไม่ได้ผลเต็มที่
ของกิน ๗ สิ่ง ที่ตั้งเลี้ยงพระโคนั้นมีข้าวเปลือก ข้าวโพด ถั่วเขียว งา หล้า น้ำ และหญ้า ถ้าพระโคกินสิ่งใดก็จะมีคำทำนายไปตามนั้น คือ
ถ้าพระโคกินข้าวหรือข้าวโพด พยากรณ์ว่า ธัญญาหาร ผลาหารจะบริบูรณ์ดี
ถ้าพระโคกินถั่วหรืองา พยากรณ์ว่า ผลาหาร ภักษาหาร จะอุดมสมบูรณ์ดี
ถ้าพระโคกินน้ำหรือหญ้า พยากรณ์ว่า น้ำท่าจะบริบูรณ์พอสมควร ธัญญาหาร ผลาหาร ภักษาหาร มังสาหารจะอุดมสมบูรณ์ดี
ถ้าพระโคกินเหล้า พยากรณ์ว่า การคมนาคมสะดวกขึ้น การค้าขายกับต่างประเทศดีขึ้น ทำให้เศรษฐกิจรุ่งเรือง
                 ปัจจุบันพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลปัจจุบัน (ร.๙) ทรงเพาะพันธุ์ข้าวชั้นดีในเขตพระราชฐาน และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เจ้าหน้าที่จัดพันธุ์ข้าวบรรจุซองเพื่อแจกแก่เกษตรกรด้วย
                 ส่วนตำแหน่งพระยาแรกนาในสมัยรัชกาลที่ ๑ จนถึงต้นรัชกาลที่ ๔ ได้แก่ เจ้าพระยาพลเทพ ส่วนพระยาแรกนาในรัชกาลปัจจุบัน (ร.๙) ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ แต่งตั้งปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เป็นพระยาแรกนา
                 พระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ กำหนดจัดขึ้นในเดือนหกของทุกปี เนื่องจากระยะนี้เป็นระยะที่เหมาะสมที่จะเริ่มต้นการทำนาอันเป็นอาชีพหลัก ของคนไทย แต่มิได้กำหนดวันที่แน่นอน เพียงแต่พิจารณาว่า วันใดในเดือนหก หรือเดือนพฤษภาคมที่มีฤกษ์ยามเหมาะสมก็ให้จัดในวันนั้น
                 พระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ ในปีพุทธศักราช ๒๕๕๐ ตรงกับวันที่ ๑๐ พฤษภาคม ๒๕๕๐ และยังคงดำเนินตามแบบอย่างโบราณราชประเพณี เว้นแต่บางอย่างได้ดัดแปลงให้เหมาะสมแก่กาลสมัยและพิธีของพราหมณ์ก็ตัดทอน ให้เหลือน้อยลง ซึ่งในปีนี้ นาย บรรพต หงส์ทอง ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เป็นพระยาแรกนา เทพีคู่หาบทอง คือ นางสาว รัตน์ติยา แจ้งจร เจ้าหน้าที่วิเคราะห์นโยบายและแผน ๖ ว สำนักแผนงานและโครงการพิเศษ สำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์และนางสาว คมจันทร์ สรงจันทร์ นักวิชาการเกษตร ๖ ว สำนักวิจัยและพัฒนาวิทยาการ เทพีคู่หาบเงิน คือ นางสาว พันธ์ทิพย์ จารุเสน นักวิชาการตรวจสอบบัญชี ๖ สำนักงานตรวจสอบบัญชีสหกรณ์ กรุงเทพมหานครและนางสาว นุชจรี วัชรวงษ์ไพบูลย์ นักวิชาการเกษตร ๕ สำนัก ส่งเสริมและจัดการสินค้าเกษตร กรมส่งเสริมการเกษตร ในการนี้ได้ขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตนำ พันธุ์ข้าวนาสวน จำนวน ๖ พันธ์ นำเข้าพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ เพื่อนำไปไถ่หว่าน ณ บริเวณมณฑลพิธีท้องสนามหลวง
                 สำหรับพระโคแรกนา ที่ใชัไถหว่านปีนี้ได้แก่ พระโคเทิด กับ พระโคทูน และได้จัดพระโคคู่สำรอง ได้แก่ พระโคโรจน์ กับ พระโคเลิศ ซึ่งเป็นพันธุ์ขาวลำพูนลูกผสม คือ เป็นลูกผสมระหว่างพันธุ์ขาวลำพูนกับพันธุ์อเมริกันบราห์มัน ผิวขาว
                 นอกจากนี้ได้จัดของสำหรับการพยากรณ์เสี่ยงทาย โดยจัดเตรียมผ้านุ่งเสี่ยงทายของพระยาแรกนา โดยจะมี ๓ ผืน คือ ๖ คืบ ๕ คืบ และ ๔ คืบ และของกิน ๗ อย่าง คือ ข้าว ข้าวโพด ถั่ว งา หญ้า น้ำ และเหล้า เพื่อให้พระโคเสี่ยงทาย หลังจากเสร็จพีธีกระทรวงเกษตรและสหกรณ์จะจัดพันธุ์ข้าวทรงปลูกพระราชทาน บรรจุในซองพลาสติกแจกจ่าย ให้บรรดาประชาชนผู้สนใจและชาวนาทั่วประเทศรับไปเก็บไว้เป็นมิ่งขวัญและสิริ มงคลในการประกอบอาชีพการเกษตรตามประเพณีนิยม
                 สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติขอเชิญชวนให้ประชาชนชาวไทย โดยเฉพาะเกษตรกรที่ทำนาปลูกข้าวได้เข้าร่วมใน “ พระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ ” หรือที่เรียกว่า “ วันพืชมงคล ” ณ มณฑลท้องสนามหลวง เพื่อเป็นความเป็นศิริมงคลและความภาคภูมิใจในการประกอบอาชีพเกษตรกร เพราะการปลูกข้าวเป็นวิถีชีวิตไทยที่อยู่คู่ชาติไทยมาช้านาน
เอกสารอ้างอิง วันสำคัญ ของสำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ
กฤษณา พันธุ์มวานิช
กลุ่มประชาสัมพันธ์ สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ


ที่มา:สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ กระทรวงวัฒนธรรม.

 http://www.culture.go.th/knowledge/study.php?&YY=2550&MM=5&DD=2

0 comments:

Post a Comment