Tuesday, September 25, 2012

ประเพณีอาบน้ำคนแก่ ภูมิปัญญาไทยร้อยโยงใจสายใยครอบครัว ที่สำนักวิปัสสนาธรรมโชติ ต้นน้ำอ่างศรีตรัง


ผมตั้งใจจะเขียนภาพรวมลุ่มน้ำย่อยอ่างศรีตรัง ต่อ แต่ยังหาเวลาเหมาะๆ ไม่ได้ครับ ก็นำเสนอภาพย่อยทรัพยากรด้านประเพณีวัฒนธรรมอันดีในลุ่มน้ำฯ ก่อนที่จะผ่านพ้นเดือนแห่งเทศกาลกตัญญู


วันนี้ตรงกับวันอาทิตย์ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๕ (๒๐ เมษายน) เป็นวันเพ็ญฉันตื่นนอนเช้าตรู่กว่าปกติ เจ้านกน้อยส่องเสียงร้องขับขานอวดกันที่ยอดไม้ใกล้กับที่พัก แสงไฟยังสอดส่องเส้นทางสัญจร จัดเตรียมเปลสนามและสัมภาระที่จำเป็นใส่เป้ใบเก่าคู่ใจ พร้อมกับกระเป๋าลายพลางขนาดเล็กอีกหนึ่งใบ จุดมุ่งหมายคือสำนักวิปัสสนาธรรมโชติ ซึ่งตั้งอยู่บนต้นน้ำอ่างศรีตรัง ตามที่พูดคุยนัดหมายกับท่านพระยุคล ยาณวโร และน้องนักศึกษาจากคณะเศรษฐศาสตร์เกษตร ลูกศิษย์พระอย่างหลวมๆ ไว้เมื่อเมื่อวานตอนเช้าตรู่ เตรียมกายใจซื้อสิ่งของสำหรับใส่บาตร สะพายเป้มุ่งตรงไปยังศาลาบิณฑบาตรบริเวณอ่างศรีตรัง ตั้งจิตใส่บาตร สนทนากับท่านพระยุคล จึงได้ทราบว่าวันนี้จะมีงานอาบน้ำคนแก่ที่สำนักฯ (จริงๆ ประเพณีนี้จะจัดในช่วงวันที่ ๑๓ -๑๕ เมษายนของทุกปี แต่ จะวันไหนไม่สำคัญเมื่อกายใจพร้อมก็นัดหมายได้) จิตใจรู้สึกว่าดีใจมากที่ได้ไปร่วมงานบุญแสดงความกตัญญูครั้งนี้โดยไม่ทราบ ล่วงหน้ามาก่อน ศาสนิกชนใส่บาตรทำบุญทำทานเสร็จสิ้น แบ่งข้าวปลาอาหารใส่รถยนต์ (จริงๆ แล้ววันนี้ตั้งใจจะเดินเท้าไปกับท่านฯ แต่รับทราบว่าจะต้องรีบไปเตรียมพิธีฯ) ออกเดินทางออกจาก อ่างเก็บน้ำ มอ.
 
 แผนที่เส้นทางสู่สำนักวิปัสสนาธรรมโชติ
เจ้า เครื่องกลเหล็กสี่ล้อยางพาผ่านทางศูนย์วิจัยยางสงขลาหรือที่เราพูดจนติดปาก ว่า "คอหงส์" ไปบนถนนลูกรังสองข้างทางร่มรื่นไปด้วยป่ายางและสวนวนเกษตร(Agroforestry) บ้าน และกระท่อมหลังน้อยของชุมชนต้นน้ำคอหงส์กระจายเรียงรายอยู่เป็นระยะอยู่ใน สวน เมื่อสุดปลายทางถนนสายแคบพาหนะที่แสนดีจอดสงบนิ่ง ทั้งพระสงฆ์และฆารวาสลงมาช่วยกันหอบหิ้วสิ่งของจากการบิณฑบาตร เดินลัดเลาะตามเส้นทางเดินเท้าเล็กๆ ผ่านสะพานข้ามลำน้ำเล็กๆ ที่มีน้ำใสเย็นไหลรินหล่อเลี้ยงตลอดทั้งปี ขึ้นบันไดหินที่จัดเรียงสู่ศาลาธรรมกลางผืนป่า ชั้นล่างลูกหลานหลายคนกำลังสาละวนเร่งจัดเตรียมสำรับอาหาร ผมจัดวางสิ่งของแล้วยกมือไว้ทักทายคนที่ไม่เคยรู้จักหน้าตาแต่มีจิตใจตรงกัน ต่างคนต่างยิ้มให้กัน พูดจาตอบเสมือนกับเป็นลูกหลานคนสนิทใกล้ชิดกัน 

สภาพชุมชนต้นน้ำคอหงส์
 สภาพแวดล้อมสำนักวิปัสสนาฯ ทางคนทางน้ำ
ขอ เดินสำรวจสภาพแวดล้อมใหม่โดยรอบบริเวณสถานปฏิบัติธรรมแห่งนี้ ฝูงไก่แจ้คุ้ยเขี่ยใบไม้ที่ร่วงหล่นทับถมกันจนเน่าเปื่อยหาสัตว์เล็กที่ อาศัยอยู่เป็นอาหารให้ลูกน้อยจิกกิน เป็นห่วงโซ่อาหาร สัตว์ป่าหลากหลายชนิดประสานเสียงร้องกล่อมไพร เคลื่อนไหวอย่างอิสระบนยอดไทรใหญ่
 
 องค์ประกอบแวดล้อมโดยรวมของสำนักฯ
พระ ฉันท์เช้าเสร็จ เป็นสัญญาณที่เด็กวัดเก่าจำได้ดี มานั่งล้อมวงกินข้าวก้นบาตรกันจนอิ่มท้อง น้องๆ นักศึกษาที่ทำค่ายยุวศิลป์และนักเรียน มอ.วิทยานุสรณ์ กลุ่มหนึ่งเดินทางมาถึง มิรอช้าช่วยกันจัดดอกไม้ประกอบพิธี พระสงฆ์จากวัดอื่นและผู้ถือศิลเดินทางมาถึง ลูกหลาน ญาติ และผู้นับถือเริ่มทยอยมาเพิ่ม ใกล้เวลาช่วยกันจัดเตรียมอย่างเพรียบพร้อมทุกอย่าง จากหลายมือหลายดวงใจรวมกันเป็นหนึ่งเดียว ระหว่างรอเวลาท่านสนทนาแนวคิดในการพัฒนากับผมไปพลางๆ เสียงดังขึ้นจากเครื่องเสียงให้ทุกคนมานั่งรวมกันที่ศาลาธรรมจนเนิงแน่น ล้นลามขยายสู่ลานธรรมบนผืนทรายใต้ร่มไม้ใหญ่ พิธีกรรมเริ่มขึ้นเชิญคุณยายเขื่อนจุดเทียนบูชาพระรัตนตรัย คุณลุงนำสวด พระท่านสวดประพรหมน้ำมนต์จนชื่นใจ คุณยายและลูกหลานถวายเครื่องสังฆภัณฑ์ ร่วมกันกรวดน้ำ ช่วยลำเลียงและประเคนอาหารเที่ยง พระสงฆ์ สามเณร และแม่ชี ฉันท์เที่ยง ทยอยกันเดินลงมารวมกลุ่มที่ลานธรรมพูดคุยถามไถ่ทุกข์สุขด้วยความห่วงใย จนพระฉันท์เที่ยงเสร็จสิ้นเสียงสวดมนต์ทุกคนกลับมาบนศาลาอีกครั้ง นั่งล้อมวงทานอาหารเที่ยงพร้อมพูดคุยซักถามกันอิ่มทั้งกายและใจ ช่วยกันเก็บปัดกวาด จนสะอาดเรียบร้อย
 
ช่วยกันจัดเตรียม
 พิธีกรรมภาคเช้า
ถวายอาหารเที่ยง
พิธีกรรม เริ่มต่อ คุณยายเขื่อนและยายอนงค์ออกมานั่งด้านหน้าตัวแทนลูกหลานนำดอกไม้ธูปเทียน คุณลงทำหน้าที่อีกครั้งนำกล่าวขอขมา ทุกคนพนมมือกล่าวตาม "กายกรรม สาม วจีกรรมสี่ มโนกรรมสาม หากข้าพเจ้าทั้งหลายเกิดประมาทพลาดพลั้งแก่ท่าน ด้วยกายก็ดี ด้วยวาจาก็ดี ด้วยใจก็ดี ต่อหน้าก็ดี ลับหลังก็ดี ไม่เจตนาก็ดี ขอให้ท่านอโหสิกรรมให้แก่ข้าพเจ้าด้วยเถิด และขอได้โปรดอำนวยพรให้ข้าพเจ้าทั้งหลาย มีความสุขความเจริญตลอดไป และขอตั้งจิตอธิษฐานขอให้ท่านเจริญด้วย อายุ วรรณะ สุขะ พละ ตลอดไป" จนเสร็จสิ้น ลุกขึ้นทยอยเดินลงมายังลานผืนทรายคุณยายทั้งสองมานั่งที่เก้าอี้ที่จัด เตรียมไว้ลูกหลานทำพิธีอาบน้ำ เริ่มการรดน้ำด้วยพระยุคลตามแถวด้วยลูกหลาน และญาติๆ ที่นับถือใช้ขันใบน้อยบรรจงตักน้ำและดอกไม้จากขันใบใหญ่ ยกขึ้นเหนือศรีษะแล้วค่อยรดน้ำรินไหลจากสองมือผู้เยาว์วัยสู่สองมืออันโอบ อ้อม ทุกคนรดน้ำพร้อมกล่าวคำอวยพรแด่คุณยายแตกต่างกันคุณยายให้พรตอบ ถึงเวลาอาบน้ำจริงตัวแทนลูกหลานตักน้ำมาอาบพอเป็นพิธี เพื่อรักษาสุขภาพ ท่านผลัดเปลี่ยนเสื้อผ้าใหม่ที่ลูกหลานซื้อเตรียมมาให้พร้อมแป้งหอม
 พิธีกรรมภาคบ่าย การขอขมาและการอาบน้ำคนแก่
วันนี้ ช่างมีความสุขและรู้สึกดีมาก ๆ กับประเพณีไทยชาวแดนสะตอ เป็นการแสดงถึงความกตัญญูกตเวทิตาต่อผู้มีพระคุณ ยังสร้างความรักใคร่กลมเกลียวเป็นปึกแผ่นแน่นแฟ้นของวงศ์ตระกูลและสังคมไทย เป็นภูมิปัญญาไทยร้อยดวงใจที่แสนแยบยล จริงๆ ครับ

0 comments:

Post a Comment