“แห่กราบไหว้หลุมปริศนา-ตื่นรูพญานาค” เป็นข้อความพาดหัวเล็กของหนังสือพิมพ์ข่าวสด (ฉบับวันพุธที่ 8 เมษายน 2552 หน้า 1) แล้วมีข่าวนำจะขอคัดมาให้อ่านดังนี้
ชาวโพนพิสัย หนองคาย แตกตื่นแห่กราบไหว้ “บ่อน้ำปริศนา” ร่ำลือเป็น “เมืองบาดาลพญานาค” หลังเกิดฝนตกหนักทั้งกลางวันกลางคืน พอรุ่งเช้ามีเสียงคล้ายระเบิดดังสนั่น จู่ๆเกิดบ่อน้ำ ลักษณะคล้ายตาน้ำกลางทุ่งนา จึงไปเชิญร่างทรงมาทำพิธี ก่อนอ้างว่าเป็นการแสดงอิทธิฤทธิ์ของพญานาคชื่อ “ท้าวเจ็ดสี” มาโปรดสัตว์ ขจัดปัดเป่าสิ่งชั่วร้าย
พ่อเฒ่าวัย 71 เผยเมื่อ 5 ปีก่อนเคยเกิดปรากฏการณ์ทำนองนี้ เชื่อกันว่าเป็น “แม่นาคีแดง” พญานาคพี่สาวท้าวเจ็ดสี
ราว 40-50 ปีมาแล้ว มีหนังสือการ์ตูนชื่อ ดาบเจ็ดสี มณีเจ็ดแสง เป็นการ์ตูนขายดีเล่มหนึ่งในยุคนั้น
พญานาคตัวผู้ชื่อ ท้าวเจ็ดสี กับพญานาคตัวเมียชื่อ แม่นาคีแดง ฟังแล้วกระเดียดไปทางการ์ตูนกับช่อง 7 สีทีวีเพื่อคุณ
ความเชื่อเรื่องบ่อน้ำพญานาคมีมานานมากตั้งแต่ยุคดึกดำบรรพ์สุวรรณภูมิ ราว 3,000 ปีมาแล้วเป็นอย่างน้อย ในเวียงจันกับอำเภอศรีเชียงใหม่ หนองคาย มีเจดีย์ธาตุดำ ก็มีนิทานกำกับว่าเป็นธาตุปิดรูพญานาค หรือบ่อน้ำพญานาคไม่ให้ขึ้นมาอาละวาดข้างบน พญานาคเลยพ่นพิษเผาธาตุจนดำเป็นตอตะโก
บ่อน้ำพญานาคยังมีอยู่ในวัดโพธิ์ชัยศรี บ้านแวง ตำบลบ้านผือ จังหวัดอุดรธานี มีชาวบ้านไปเคารพกราบไหว้ทุกวันนี้ เพราะลือกันว่าน้ำไม่เคยแห้ง แต่ถ้าผู้หญิงเอาผ้าถุงหรือผ้าซิ่นวางไว้ขอบปากบ่อ น้ำจะแห้งหมด แสดงว่าผู้หญิงมีอำนาจเหนือพญานาค
จอมปลวกก็มีคนแต่ก่อนเชื่อว่ามีขึ้นปิดรูน้ำหรือบ่อน้ำ หนทางขึ้นลงของพญานาคจากบาดาล เพราะใต้จอมปลวกจะมีตาน้ำที่คนแต่ก่อนเรียก ซัม หรือซำ (อันเป็นที่มาคำว่า สยาม) ทำให้เกิดแหล่งน้ำเรียกหนอง, บึง, บุ่ง, ทาม, ฯลฯ
เหตุนี้เองนิทานเรื่องเจ้าชายสายน้ำผึ้งถึงกำหนดให้เด็กเลี้ยงวัวควาย เล่นเป็นกษัตริย์นั่งบนจอมปลวก เท่ากับมีอำนาจคุมน้ำบาดาลของพญานาคได้นี่เอง
คนยุคต้นกรุงศรีอยุธยา หรือยุคทวารวดีเชื่อว่ามีสะดือแม่น้ำเจ้าพระยาอยู่ตำบล “บางขดาน” ใต้ตัวเมืองอยุธยาลงไป มีพรรณนาอยู่ในโคลงทวาทศมาสว่า พระเจ้าแผ่นดินต้องเสด็จทางเรือนาค(อนันตนาคราช)ไปทำพระราชพิธีหรือพิธีกรรม “เห่เรือ” ขอขมาผีน้ำผีดินที่ตำบลนี้ ขอให้น้ำลดเร็วๆ ชาวนาจะได้เกี่ยวข้าว
สะดือแม่น้ำเจ้าพระยาที่ตำบลบางขดานนี่แหละรูพญานาค หรือทางขึ้นลงบาดาลของพญานาค เป็นความเชื่อเดียวกันกับบ่อพระยานาคของชาวบ้านอำเภอโพนพิสัย จังหวัดหนองคายนั่นเอง
พระราชพิธี 12 เดือน ของราชสำนักกรุงศรีอยุธยาเกือบทั้งหมดมีที่มาจากประเพณีพิธีกรรมของชาวบ้าน ในสุวรรณภูมิที่ทำมาหลายพันปีแล้ว เมื่อราชสำนักรับแบบแผนชาวบ้านไปแล้วก็ทำให้ศักดิ์สิทธิ์ขึ้นโดยเพิ่มพิธี พุทธ-พราหมณ์เข้าไป บางทีไม่เหลือเค้าเดิมให้เห็น เช่น ความเชื่อเกี่ยวกับพญานาค ฯลฯ ก็อย่างเดียวกับชาวบ้านโพนพิสัย หนองคาย เป็นต้น
ความเชื่อเรื่องพญานาคมีมาตั้งแต่ยุคดึก ดำบรรพ์หลายพันปีมาแล้ว ในวรรณคดียุคต้นอยุธยามีข้อความพรรณนาว่าพระเจ้าแผ่นดินเสด็จทางเรือไปเห่ เรือขอขมาพญานาคที่“สะดือแม่น้ำเจ้าพระยา” หรือรูพญานาค เช่นเดียวกับบ่อน้ำพญานาคของชาวบ้านโพนพิสัยที่หนองคาย (หลุมอะไร- ชาวโพนพิสัย จ. หนองคาย พากันกราบไหว้บ่อปริศนา ที่เกิดกลางทุ่งนาหลังฝนตก ร่างทรงระบุเป็นการแสดงอิทธิปาฏิหาริย์ของพญานาคชื่อ “ท้าวเจ็ดสี” จากเมืองบาดาลมาโลกมนุษย์ ตามข่าว) (ภาพและคำบรรยายจาก ข่าวสด ฉบับวันพุธที่ 8 เมษายน 2552 หน้า 1)